ซิฟิลิส (Syphilis) คืออะไร?

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย โดยปกติจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิฟิลิส หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงตามมาภายหลังได้ การดำเนินโรคในขั้นต้น โดยทั่วไปจะเริ่มจากบาดแผล ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะของแผลจะเป็นแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ (Painless sore) หรือเรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) การแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นสามารถเกิดได้ผ่านทางการสัมผัสบาดแผลนี้กับผิวหนังหรือเยื่อบุต่าง ๆ โรคซิฟิลิสอาจเป็นปัญหาที่ตรวจพบได้ยาก เนื่องจากการดำเนินโรคหลังจากได้รับเชื้อแล้ว เชื้อแบคทีเรียชนิดสามารถหลบซ่อนตัวอยู่เงียบ ๆ ภายในร่างกายเราได้เป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะมีอาการแสดงขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งระยะนี้เรียกว่าระยะแฝง (Latent phase) หากเราสามารถตรวจพบการติดเชื้อนี้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ และหลังจากรักษาจนหายขาดแล้ว เราจะไม่เป็นโรคซิฟิลิสเว้นแต่ว่าจะได้รับเชื้อจากผู้ติดเชื้อรายอื่น

สาเหตุของโรคซิฟิลิส

ซิฟิลิสเกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ผ่านทางรอยขีดข่วนหรือบาดแผลเล็ก ๆ บนผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ การแพร่กระจายของเชื้อชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระยะแรก ซึ่งเป็นระยะที่มีแผลริมแข็ง (Chancre) หรือในระยะที่สอง ซึ่งจะมีอาการแสดงคือมีผื่นขึ้น หรือแม้แต่ในช่วงแรก ๆ ของระยะแฝง (Early latent phase) ซึ่งไม่มีอาการแสดงใด ๆ เลยก็ตาม

หลายคนมีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการติดต่อของเชื้อซิฟิลิส ในความเป็นจริงเชื้อชนิดนี้จะไม่ติดต่อผ่านทางการใส่เสื้อผ้าร่วมกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน หรือกินอาหารจากภาชนะเดียวกัน หรือแม้แต่จากลูกบิดประตู สระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ นอกจากนี้ มีการติดเชื้อบางกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก สามารถเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับบริเวณที่มีการติดเชื้ออยู่ขณะนั้น เช่น ผ่านทางการจูบ เป็นต้น

อาการของโรคซิฟิลิส (Syphilis) และการวินิจฉัยโรคซิฟิลิส

การติดเชื้อซิฟิลิสจะมีการดำเนินของโรคเป็นระยะๆ แต่ละระยะจะมีอาการต่างกันไป ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะประกอบไปด้วยระยะที่หนึ่ง (Primary stage) ระยะที่สอง (Secondary stage) ระยะแฝง (Latent stage) และระยะที่สาม (Tertiary stage) อย่างไรก็ตามโรคซิฟิลิสไม่ได้จำเป็นต้องมีลำดับการดำเนินโรคตามที่กล่าวเสมอไป อาจมีการสลับ หรือมีระยะทับซ้อนกันได้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิฟิลิสบางคนอาจได้รับเชื้อไปเป็นระยะเวลานานหลายปีโดยไม่ได้รู้ตัวเลยก็เป็นได้

โรคซิฟิลิสระยะที่หนึ่ง (Primary Syphilis)

โรคซิฟิลิสมักจะแสดงอาการเริ่มต้นจากการมีแผลเล็กๆ ที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) โดยแผลริมแข็งจะเกิดขึ้นหลังจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3 สัปดาห์ สำหรับผู้ชายแผลริมแข็งมักจะเกิดในบริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศในผู้ป่วยบางราย อาจไม่ทันสังเกต หรือไม่รู้ตัวว่ามีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากแผลนี้จะไม่มีอาการปวด และแผลอาจซ่อนอยู่ภายในช่องคลอด หรือทวารหนัก จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อซิฟิลิสได้แผลริมแข็งนี้โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว แต่ก็มีบางส่วนที่มีแผลหลายตำแหน่ง โดยแผลริมแข็งจะสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แม้ไม่ได้ทำการรักษาใด ๆ ก็ตาม

โรคซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary Syphilis)

หลังจากที่แผลริมแข็งหายไปไม่นาน ผู้ป่วยซิฟิลิสอาจมีผื่นขึ้นได้ ผื่นนี้มักจะขึ้นบริเวณลำตัว แต่ก็สามารถกระจายไปทั่วร่างกาย รวมถึงมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าได้เช่นเดียวกัน หรือบางครั้งอาจมีแผลนูนบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย โดยปกติผื่นจากซิฟิลิสจะไม่มีอาการคัน แต่อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้

  • อาการปวดกล้ามเนื้อ
  • ไข้
  • เจ็บคอ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต

อาการต่าง ๆ เหล่านี้สามารถหายไปเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้เช่นเดียวกัน

โรคซิฟิลิสระยะแฝง (Latent Stage)

หากไม่ได้รักษา ซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary stage) สามารถดำเนินต่อไปเป็นระยะแฝง (Latent stage) ได้ ในระยะแฝงผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อซิฟิลิสเลย โดยระยะแฝงนี้อาจกินระยะเวลาได้นานเป็นปี

โรคซิฟิลิสระยะสาม (Tertiary stage)

ซิฟิลิสระยะแฝง (Latent stage) อาจมีการดำเนินโรคต่อเนื่องไปสู่ระยะสาม (Tertiary stage) โดยมีอัตราส่วนผู้ติดเชื้อประมาณ 15-30 % จากผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ทำการรักษาทั้งหมดจะพัฒนามาสู่ระยะนี้ อาการของซิฟิลิสระยะที่สาม การติดเชื้ออาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อสมอง ระบบประสาท ตา หัวใจ เส้นเลือด ตับ หรือกระดูกและข้อต่อ ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นหลายปีหลังจากติดเชื้อแต่ไม่ได้รักษา

การตรวจและวินิจฉัยโรคซิฟิลิส

แพทย์จะตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อ โดยใช้วิธีเจาะเลือดหาแอนติบอดี (Antibody) เราสร้างขึ้นมา โดยแอนติบอดีต่อเชื้อซิฟิลิสนี้จะคงอยู่ในร่างกายเราได้เป็นเวลานานหลายปี ทำให้การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถบ่งบอกการติดเชื้อในอดีตได้ ในซิฟิลิสระยะต้นและระยะที่สอง แพทย์อาจเก็บตัวอย่างเซลล์ (Cell) จากบริเวณบาดแผลหรือบริเวณผื่นเพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย

หากแพทย์สงสัยว่าคุณอาจมีการติดเชื้อเป็นโรคซิฟิลิสระยะที่สาม และมีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาทเกิดขึ้น อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) เพื่อนำน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid) ไปตรวจหาความผิดปกติต่อไป

การรักษาโรคซิฟิลิส

หากพบอาการป่วยของโรคนี้ ควรได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยไม่มีผลแทรกซ้อนในระยะยาว

ข้อแนะนำ วิธีรักษาสำหรับโรคซิฟิลิส คือ การใช้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง ในช่วงการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะจบการรักษา และผลตรวจเลือดของผู้ป่วยก็ต้องได้รับการยืนยันว่าหายขาดแน่นอนแล้ว

นอกจากนี้ คู่นอนควรเข้ามารับการตรวจและรักษาอย่างครบถ้วน ผู้ป่วยควรรับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) เนื่องจากการป่วยเป็นโรคซิฟิลิสนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีที่สูงขึ้นกว่าเดิมด้วย

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ หากพบว่าการติดเชื้อของผู้ป่วยอยู่ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี จะสามารถหยุดการลุกลามของโรคได้ด้วยการฉีดยาเพนิซิลลินเพียง 1 เข็ม แต่ถ้าผู้ป่วยมีการติดเชื้อเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี อาจต้องรับการยาฉีดชนิดนี้มากขึ้นอีกเมื่อพบว่าผู้ป่วยแพ้ยาเพนิซิลลิน แพทย์ก็จะเสนอการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ๆ แต่กระนั้น ยาเพนิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะเพียงชนิดเดียวที่มีข้อมูลในการป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิสแต่กำเนิด

ข้อมูล : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ | http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/974/syphilis

Leave a reply