ทำไมลูกถึงไอเรื้อรัง

ทำไมลูกถึงไอเรื้อรัง  (1)

การไอเรื้อรังมีสาเหตุจากอะไรบ้าง

คุณพ่อคุณแม่บางท่านคงสงสัยว่าทำไมเวลาลูกมาสบายเป็นหวัด  ถึงได้ไอต่อเนื่องเป็นเวลานาน  ซึ่งจะถือได้ว่าไอเรื้อรัง  ถ้านานเกิน 3 สัปดาห์ติดต่อกัน กรณีที่ไอมีเสมหะเสียงครืดคราดในลำคอ  หรือแม้แต่บางรายมีอาการกระแอมเป็นประจำ  ส่วนหนึ่งเกิดจากมีน้ำมูกเรื้อรังและไหลลงจากจมูกสู่ลำคอ  เด็กกลุ่มที่จะพบมีน้ำมูกเรื้อรังได้แก่กลุ่มภูมิแพ้ที่มีอาการทางจมูก  ซึ่งจะมีน้ำมูกใสๆในเวลาอากาศเย็น  ช่วงเช้า และกลางคืน  จามและอาจมีอาการคันตาและจมูกร่วมด้วย ,  เด็กที่มีไซนัสอักเสบ  นอกจากนี้เด็กที่มีต่อมอดีนอยด์โต  ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ช่องจมูก  ต่อมนี้จะอุดกั้นการถ่ายเทของโพรงไซนัสและท่อเปิดจากหูชั้นกลาง  ทำให้มีน้ำมูกเรื้อรัง เป็นไซนัสอักเสบและหูอักเสบบ่อยๆ

ทำไมเด็กจึงมักไอกลางคืนหรือเวลาที่อากาศเย็น

ในท่านอนน้ำมูกจะหยดลงมาที่คอง่าย อากาศที่เย็นจะแห้งทำให้น้ำมูกและเสมหะเหนียว รวมทั้งกลไกลการทำงานของขนเส้นเล็ก ๆ ในทางเดินหายใจที่คอยพัดโบกน้ำมูกและเสมหะออกไป ทำงานได้ไม่ดี จึงมีน้ำมูกและเสมหะคั่งค้างมาก ทำให้ไอมาก ในภาวะอากาศแห้ง

ควรทำอย่างไรเมื่อลูกไอ

ควรพาไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด ถ้ามีไซนัสอักเสบต้องให้ยาปฏิชีวนะ การให้ยาลดน้ำมูก และยาลดการบวมในจมูก จะใช้ในรายที่มีภูมิแพ้ร่วมด้วย  การให้ยาหยอดจมูกเพื่อให้จมูกโล่งจะใช้เมื่อแน่นจมูกมาก ๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 4 – 5 วัน 

วิธีที่ดีและปลอดภัย คือการล้างน้ำมูกในจมูกออกมาด้วยน้ำเกลือเพราะน้ำมูกเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เด็กไอ

การล้างจมูกทำอย่างไรบ้าง

ในเด็กเล็กใช้น้ำเกลือ 1 – 2 หยด  หยดลงในจมูกทีละข้างขณะนอนตะแคงหน้าโดยจับหน้าให้นิ่งน้ำเกลือจะทำให้น้ำมูกไม่เหนียวและไหลลงไปได้เอง ถ้ามีน้ำมูกมากอาจใช้ลูกยางแดง เบอร์ 0 – 1 ช่วยดูดน้ำมูกโดยใส่ในรูจมูกลึก ประมาณ 1 – 1.5 ซ.ม. แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง  ในเด็กโตถ้าน้ำมูกไม่มากนักให้ทำขณะนั่ง โดยแหงนหน้าเล็กน้อย ใช้น้ำเกลือหยดเข้าจมูกข้างละ 3 – 4 หยด ทิ้งไว้สักครู่ แล้วก้มหน้าสั่งน้ำมูก ทำซ้ำหลายครั้งจนสะอาด แล้วจึงทำอีกข้างที่เหลือ แต่ถ้าน้ำมูกที่ปริมาณมากแนะนำให้ใช้หลอดฉีดยา ขนาด 10 ซีซี (ไม่ใส่เข็ม ) ดูดน้ำเกลือครั้งละ 5 – 10 ซีซี  ค่อยๆ  ฉีดเข้าในรูจมูก ขณะก้มหน้าและภาชนะรองรับไม่จำเป็นต้องฉีดแรง จะพบน้ำมูกไหลตามออกมา จากนั้นให้สั่งน้ำมูก แล้วทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งในแต่ละข้างจนสะอาด ควรทำบ่อยๆ อย่างน้อยเมื่อตื่นนอนตอนเช้า และก่อนเข้านอน ช่วงกลางวันถ้าแน่นจมูกหรือน้ำมูกมากก็ควรทำซ้ำอีก

การล้างจมูกมีอันตรายหรือไม่

ส่วนมากคุณพ่อคุณแม่รวมทั้งตัวเด็ก จะบอกตรงกันว่าสบายขึ้นและโล่งจมูก นอนได้ดีขึ้นไม่ไอ รับประทานนมและอาหารได้ สำหรับเด็กเล็ก การดูดน้ำมูกต้องทำด้วยความนุ่มนวล และจับหน้าให้นิ่ง เด็กโตไม่จำเป็นต้องสั่งน้ำมูกแรง แต่ให้ทำหลายๆครั้ง น้ำเกลือที่ใช้มีสัดส่วนใกล้เคียงกับสารในร่างกาย จึงไม่มีอันตรายถ้าหยอดลงคอไปบ้างก็ไม่มีอันตรายเช่นเดียวกัน

ถ้าปล่อยให้ลูกมีน้ำมูกและไอเรื้อรังจะมีอันตรายอย่างไร

ในรายที่เป็นหอบหืด จะทำให้อาการกำเริบ และไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา เมื่อเป็นนานๆ จะมีเสมหะคั่งค้างในปอดได้การที่น้ำมูกหยอดผ่านลงคอนานๆ  ทำให้เจ็บคอ  ร่วมกับการที่เด็ก  แน่นจมูกจึงต้องอ้าปากหายใจเอาอากาศที่แห้งและเจ็บคอ มีโอกาสเป็นหูชั้นกลางอักเสบได้ง่ายนอกจากนี้จะรับประทานนมและอาหารได้ลดลงรวมทั้งนอนหลับไม่สนิทจากการตื่นไอบ่อย ๆ

ทำไมลูก….? จึงเรื้อรัง (2)

การไอเกิดจากอะไร ไอเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในทางเดินหายใจ  อาจเป็นฝุ่นละอองหรือเสมหะที่เกิดจากไข้หวัด  หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ  ร่างกายจะกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้โดยการไอออกมา  สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือที่ทำให้ไอเรื้อรังคือการมีเสมหะคั่งค้างในหลอดลม

ควรทำอย่างไรเมื่อลูกไอ

บางครั้งจะพบว่าลูกไอมาก  แต่ไอไม่ออก  ไอจนเหนื่อย หรือไอจนปวดท้องก็ยังไม่หยุดไอ  ทั้งนี้เนื่องจากเสมหะที่เหนียวมาก  และจากการไอที่ไม่ถูกวิธี  อาจเปรียบเทียบเสมหะที่ค้างในหลอดลมกับซอสมะเขือเทศที่มีเหลือติดก้นขวด  การที่นำซอสออกมานั้นเราต้องคว่ำขวดลง  ใช้มือเคาะก้นขวด  แล้วเขย่าแรงๆเช่นเดียวกับเสมหะที่อยู่ในหลอดลม  เราต้องจัดท่านอนหรือนั่งในแนวที่ทำให้เสมหะไหลออกมาสะดวก  จากนั้นต้องมีการเคาะ  เพื่อให้เสมหะหลุดจากหลอดลม  การสั่นสะเทือนเพื่อกระตุ้นการไอ  ตลอดจนฝึกการไออย่างมีประสิทธิ์ภาพ  เสมหะจึงหลุดออกมาได้  ในกรณีเด็กเล็กที่อาจไม่สามารถบ้วนเสมหะออกมาได้  แค่เพียงการเคาะและการไอที่ถูกต้องเสมหะก็หลุดออกมาจากหลอดลมได้  ถ้ามีเสมหะมากๆในเด็กเล็กอาจต้องใช้ลูกยางแดง  เบอร์ 1ช่วยดูดเสมหะในปาก  หากมีบางส่วนกลืนลงไปบ้างร่างกายก็จะขับถ่ายออกมาได้เอง

การช่วยลูกให้ไอเอาเสมหะออกจะต้องทำอย่างไร

ทำไมเสมหะไม่เหนียว  โดยการดื่มน้ำมากๆ

การเตรียมตัว  สั่งน้ำมูกและบ้วนหรือดูดเสมหะในจมูกและปากที่มีมากออกก่อน  และควรทำก่อนอาหาร  หรือหลังอาหาร 1  ½-2  ชั่วโมง เพื่อไม่ให้อาเจียนหรือสำลัก

การจัดท่าที่เหมาะสม   จะช่วยให้เสมหะจากปอดส่วนต่างๆ ถูกขับออกมาได้ง่ายขึ้น ให้ทำการเคาะแล้วจึงทำการสั่นสะเทือนในแต่ละท่า ท่าละ 3-6 นาที รวมทุกท่าไม่ควรนานเกิน 15-30 นาที แล้วจึงลุกนั่งหรือยืนเพื่อให้ไออย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเด็กเหนื่อยหรือเบื่อ ก็ทำเพียงบางท่า การเคาะระบายเสมหะ  หลักการคือใช้แรงสั่นจากลมที่กระทบผนังทรวงอกขณะเคาะ ไปทำให้เสมหะหลุดออกจากหลอดลม โดยใช้ผ้าขนหนูบางๆวางบนตำแหน่งที่จะเคาะ ขณะเคาะให้ทำมือเป็นกระเปาะ  ปลายนิ้วชิดกันและมีการเคลื่อนไหว  สบายๆตรงข้อมือ ข้อศอก และไหล่ ด้วยความถี่ 3 ครั้งต่อวินาที ให้ทั่วๆ บริเวณทรวงอกส่วนที่เคาะอยู่
โดยวนเป็นวงกลมหรือเลื่อนไปทางซ้ายและขวา ส่วนมากเด็กจะรู้สบายเหมือนมีคนนวดให้  บางรายนอนหลับสบายขณะเคาะ

การสั่นสะเทือนเพื่อช่วยการไอ การทำจะยากกว่าการเคาะถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องเป็นกังวลกับขั้นตอนนี้ การสั่นสะเทือนทำโดยวางฝ่ามือลงบนทรวงอก ในเด็กเล็กวางมือประกบบริเวณด้านหน้าทั้ง 2 ด้าน เด็กโตอาจวางมือซ้อนทับกัน เกร็งทุกส่วนจากไหล่ ข้อศอก มือ แล้วทำให้เกิดการสั่นสะเทือน โดยเริ่มขณะที่หายใจเข้าจนสุดไปจนตลอดการหายใจออก จะช่วยให้ไอเอาเสมหะออกมาได้ดีขึ้นปอดส่วนบนด้านบนสุดนั่งเองไปด้านหลัง 30 องศาเคาะและสั่นสะเทือนบริเวณบ่าด้านหลัง ปอดส่วนบ่นด้านหลัง นั่งเอนไปด้านหน้า 30 องศาอาจกอดหมอนให้สบายขึ้น  เคาะและสั่นสะเทือนบริเวณบ่าด้านหลัง ปอดส่วนบนด้านหน้านอนราบและเคาะทรวงอกด้านหน้าส่วนบนทั้ง 2ข้าง ปอดส่วนล่างด้านบน นอนคว่ำหนุนหมอน 2ใบ โดยสอดไว้ใต้สะโพกให้ลำตัวทำมุม 15 องศา  กับพื้น เคาะและสั่นสะเทือนบริเวณกลางหลัง ปอดส่วนล่างด้านหลัง  นอนคว่ำหนุนหมอน 2 ใบ   ให้ลำตัวทำมุม  30  องศากับพื้น  เคาะและสั่นสะเทือนบริเวณชายโครงด้านล่าง ปอดส่วนล่างด้านหน้า  นอนตะแคงหนุนหมอน  2 ใบเพื่อให้ศีรษะต่ำ  ให้ลำตัวทำมุม  30  องศากับพื้น  เคาะและสั่นสะเทือนบริเวณชายโครงด้านล่าง  ปอดส่วนล่าง ด้านข้าง  นอนตะแคงหนุนหมอน 2 ใบให้ลำตัวทำมุม  30 องศากับพื้น  พลิกตัวเอนไปด้านหน้าเล็กน้อย  เคาะและสั่นสะเทือนบริเวณชายโครงด้านหลังทุกท่าให้ทำทั้งด้านซ้ายและขวาสลับกัน

การไอให้มีประสิทธิภาพ  ต้องหายใจเข้าเต็มที่   แล้วกั้นหายใจ1-2วินาที  เพื่อให้ลมกระจายไปทั่วทุกส่วนของปอดและมีแรงขับดันเอาเสมหะออกมาได้เต็มที่จากนั้นไอติดต่อกัน2-3ครั้ง  การให้เด็กเล็กสูดหายใจเข้าเต็มที่อาจใช้ของเล่นที่ต้องสูดหายใจแรงๆมาช่วย เช่นเป่าลูกโป่ง เป่าฟองสบู่ หรือ เป่ากังหัน เป็นต้น

จะต้องช่วยลูกให้ไอเมื่อไรบ้าง

ทำบ่อยได้แค่ไหน  ส่วนมากเสมหะจะคั่งค้างมากตอนกลางคืน  เมื่อตื่นนอนตอนเช้าจึงไอมาก  จึงควรทำเมื่อตื่นเช้าและก่อนเข้านอนเพื่อให้หลับสบายและอาจทำเพิ่มก่อนอาหารกลางวัน ,ช่วงบ่าย  รวมทั้งกลางคืน  ถ้านอนหลับไปสักพักแล้วไอมาก  จะช่วยให้เด็กหลับต่อได้ดีขึ้น

ทราบได้อย่างไรว่าลูกดีขึ้น  ลูกจะไอลดลง เสียงครืดคราดลดลงดื่มนมและหลับได้นานขึ้น

มีข้อห้ามหรือไม่  ในรายที่เป็นหอบหืดควรให้อาการหอบดีขึ้นก่อนโดยการพ่นหรือสูดยาขยายหลอดลม  ให้หลอดลมเปิดโล่งและขั้นตอนการไอต้องไม่ทำนานเกินไป

มีผลเสียอย่างไรบ้าง  เมื่อเปรียบเทียบแล้ว  ผลเสียจากการมีเสมหะคั่งค้างมีมากและเป็นอันตรายกว่ามาก  เพราะเสมหะเป็นแหล่งเพาะเชื้อที่ดี  พบว่าลูกจะไม่สบายมีไข้ และยิ่งไอไม่หายเสียที  หายใจเหนื่อยหอบอาจเป็นปอดบวม  ปอดแฟบจากเสมหะอุดตัน  หรือถุงลมโป่งพองออก  บางรายไอมากจนปวดท้อง  เพราะการไอต้องใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องและกะบังลมซึ่งอาจช่วยได้โดยการใช้สองมือวางประสานกัน กดเล็กน้อยบริเวณหน้าท้องเพื่อช่วยลดอาการปวด  ส่วนการเคาะระบายเสมหะ ถ้าทำได้ถูกเวลา  ท่าทางและวิธีแล้ว  จะไม่มีอันตรายแต่อย่างใดสามารถทำได้ในเด็กแรกเกิดจนถึงเด็กโต  โดยปรับแรงเคาะให้เหมาะสมกับน้ำหนักและรูปร่าง  ช่วงแรกเด็กอาจไม่คุ้นเคยจะร้องบ้าง  ต่อมามักจะชอบเนื่องจากเรียนรู้ว่าทำให้เขาสบายขึ้น  มีเด็กหลายคนติดใจต้องให้คุณพ่อ คุณแม่กล่อมนอนด้วยการเคาะปอดทุกคืนจึงจะหลับสบาย

ควรให้ ยา แก้ไอหรือไม่

ในรายที่ไอมีเสมหะ  การให้ยาแก้ไอชนิดกดการไอ  จะยิ่งมีผลเสียเพราะเสมหะคั่งค้าง  แต่ยาแก้ไอที่มีฤทธิ์ขยายหลอดลมหรือละลายเสมหะจะได้ผลดี  รวมทั้งยาลดน้ำมูกบางชนิดที่มีส่วนประกอบที่ทำให้น้ำมูกและเสมหะยิ่งเหนียวมากขึ้น  ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการใช้ยาที่เหมาะสม

เมื่อลูกป่วยเป็นโรคหอบหืด พาลูกไปออกกำลังกายจะได้ไหม

ช่วงที่ไม่มีอาการสามารถพาลูกไปออกกำลังได้โดยเริ่มจากการออกกำลังกายน้อย ๆ  พยายามอย่าหักโหมทันที  ในบางรายอาจจำเป็นต้องสูดยาขยายหลอดลมก่อนและไม่ออกกำลังกายจนเหนื่อยมากเกินไป  กีฬาที่เหมาะสมคือว่ายน้ำในเวลาที่อากาศอบอุ่น  สำหรับการออกกำลังกายในสภาพแวดล้อมที่อากาศแห้งและเย็นเกินไปจะทำให้ลูกหอบได้

ป้องกันไม่ให้ลูกเป็นหอบหืดได้หรือไม่

การให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย  4  เดือน  จะทำให้มีภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อที่จะทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจได้  พยายามหลีกเลี่ยงจากเด็กอื่นที่ป่วยมีอาการไอหรือจามเลี่ยงจากฝุ่น  ควันบุหรี่  สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ และรีบพาไปพบแพทย์เมื่อมีอาการหอบเพื่อที่จะได้รับการรักษาและทราบวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้หอบซ้ำอีก

เมื่อลูกเป็นหอบแล้วต้องใช้ยานาน ๆ จะมีผลเสียหรือไม่

ปัจจุบันแพทย์พยายามให้ยาขยายหลอดลมในรูปพ่น  ซึ่งจะเข้าสูปอดโดยตรงออกฤทธิ์เร็วและยาที่ใช้จะมีปริมาณน้อยกว่าการให้ยารับประทานมาก  จึงไม่ต้องกังวลกับผลตกค้างจากยา  ส่วนยากลุ่มสเตียรอยด์ซึ่งใช้ในการป้องกันนั้น  ถ้าใช้ในขนาดและวิธีที่เหมาะสมภายใต้การดูแลของแพทย์ก็จะไม่เป็นอันตราย

ทราบได้อย่างไรว่าลูกมีอาการหอบ

ลูกจะหายใจเร็วและแรงกว่าปกติอาจได้ยินเสียงหวีดขณะหายใจ  หน้าอกบุ๋มและอาจเห็นปีกจมูกบาน  เด็กที่พูดได้จะบอกว่าเหนื่อย  แน่นหน้าอก  หายใจไม่สะดวก  ถ้าเป็นมากลูกจะเหนื่อยจนไม่มีแรงพูด  อาจพบว่าริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำได้

หอบและหอบหืดต่างกันอย่างไร

หอบอาจเกิดจากโรคหลอดลมอักเสบปอดบวมหรือสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหลอดลม  ส่วนหอบหืดเกิดจากหลอดลมที่ตีบตัวลงเมื่อได้รับสารกระตุ้น  อาการจะเกิดขึ้นรวดเร็วและเป็น ๆ หาย ๆ โดยดีขึ้นทันทีเมื่อได้รับยาขยายหลอดลม  แต่ในเด็กอาจเริ่มต้นจากอาการไอโดยเฉพาะในเวลากลางคืนเมื่อมีอาการมากขึ้นจึงจะหายใจหอบชัดเจน

ทำไมลูกจึงป่วยเป็นหอบหืด

มักเป็นกรรมพันธุ์ร่วมกับการขาดการป้องกันและสัมผัสกับสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการบ่อย  ๆ  เช่น  สารที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้  ที่พบมากในเด็กไทยคือ  ตัวไรในฝุ่น  ซึ่งอยู่ตามหมอน  ผ้านวม  ที่นอน  รังแคและน้ำลายที่อยู่ตามขนของสัตว์เลี้ยง  ละอองเกสร  และแมลงสาบเป็นต้น  จากปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้  เช่น  การออกกำลังกาย  การติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ และควันบุหรี่เป็นต้น

การรักษาเมื่อลูกมีอาการหอบ

คุณพ่อ คุณแม่ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าหอบที่ลูกเป็นอยู่เกิดจากหอบหืดใช่หรือไม่ ถ้าเป็นหอบหืดแพทย์จะรักษาโดยการให้ยาขยายหลอดลม  บางรายต้องให้ออกซิเจนด้วย  อาการของลูกจะค่อย  ๆ ดีขึ้นรวมทั้งแพทย์จะต้องตรวจหาโรคอื่นที่อาจเป็นร่วมมาในคราวเดียวกัน  จากนั้นแพทย์จะแนะนำยาที่ต้องนำไปใช้ที่บ้าน  ซึ่งมีทั้งยากินยาสูดเข้าทางปาก รวมทั้งการปฏิบัติตัวที่บ้านเมื่อลูกหอบคราวหน้าและควรพาลูกมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ลูกจะมีชีวิตเหมือนเด็กปกติคนอื่น ๆ  ได้หรือไม่ต้องระวังอย่างไรบ้าง

เด็กที่เป็นหอบหืดก็เหมือนเด็กปกติทั่วไปแต่ต้องระวังตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลีกเลี่ยงสารที่แพ้หรือสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ  เช่น   การระวังตัวไรในฝุ่นทำได้โดย  ไม่ควรมีตุ๊กตามีขนหมอนนุ่นและของที่เก็บฝุ่นในห้องนอน  ซักผ้าปูที่นอนในน้ำอุ่นประมาณ  60  C  นานครึ่งชั่วโมง  สัปดาห์และครั้ง หรือใช้ผ้าคลุมเตียงชนิดพิเศษที่สามารถป้องกันตัวไรฝุ่น  เปิดให้นอนให้โล่งแสงแดดส่องถึงและอากาศถ่ายเทในเวลากลางวัน  หมั่นนำผ้านวม  หมอนออกตากแดดหลีกเลี่ยงการปูพรม  ถ้าจำเป็นก็ต้องดูดฝุ่นบ่อย  ๆ ผู้ใหญ่ควรเลิกหรือสูบบุหรี่นอกบ้าน  สุนัขและแมวควรเลี้ยงไว้นอกบ้านหรืออย่างน้อยไม่ควรให้อยู่ในห้องนอนของลูก  หลีกเลี่ยงที่แออัดมีควันและเลี่ยงจากเด็กที่ป่วยมีอาการไอ จาม ในบางรายแพทย์จะให้ใช้เครื่องวัดการทำงานของปอดอย่างง่าย  ๆ เพื่อใช้เป็นตัวบอกว่าลูกเริ่มจะมีอาการหอบ  และจะได้ให้ยาทันท่วงที

เวลาลูกหอบอยู่ที่บ้านควรทำอย่างไร

ให้ลูกนอนพักอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี  ใช้ยาขยายหลอดลมที่คุณหมอให้พกประจำตัวอย่างถูกวิธี  ไม่ต้องตกใจจนเกินไป  ถ้ายังหอบให้ใช้ยาซ้ำได้อีก  15  นาทีต่อมาแต่ไม่เกิน  3  ครั้ง  แล้วรีบไปพบแพทย์ใกล้ที่สุดเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

มีข้อสงสัยกรุณาติดต่อ คลินิกหูคอจมูก คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา

โทรศัพท์   02-3190909 ต่อ2309-2310 เวลา 08.00-19.00น.

Leave a reply