โรคลิ้นหัวใจรั่ว

หัวใจคนเรานั้นเปรียบเสมือนปั๊มน้ำที่คอยสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ภายในหัวใจของเราจะแบ่งเป็น 4 ห้องโดยแต่ละห้องจะมีลิ้นหัวใจ ซึ่งทำหน้าที่เป็นวาล์วปิดเปิดให้เลือดไหลผ่านไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นคนเราจึงมีลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจอยู่ 4 ลิ้น คือ ลิ้นไตรคัสปิด ซึ่งกั้นระหว่างหัวใจห้องขวาบนและล่าง ลิ้นพัลโมนารี ซึ่งกั้นระหว่างหัวใจห้องขวาล่างกับหลอดเลือดที่ไปปอดเพื่อส่งเลือดดำไปฟอกที่ปอดให้สะอาดจนเป็นเลือดแดงแล้วจะถูกส่งกลับมาที่หัวใจห้องซ้ายบนและส่งผ่านลิ้นไมตรัล ซึ่งกั้นระหว่างหัวใจห้องซ้ายบนและล่างลงไปที่หัวใจห้องซ้ายล่างซึ่งถือว่าเป็นห้องสำคัญที่สุดที่จะบีบส่งเลือดผ่านลิ้นเอออร์ติค ซึ่งจะกั้นระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างกับหลอดเลือดแดงใหญ่ ให้ออกไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ ในภาวะปกติเลือดที่ไหลผ่านภายในหัวใจจึงไหลไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีลิ้นหัวใจคอยควบคุมไม่ให้ไหลย้อนทางกลับมา แต่เมื่อลิ้นหัวใจของเราเกิดรั่วจึงทำให้เลือดไหลย้อนกลับทางหรือไหลเวียนผิดปกติ หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อพยายามผลักดันเลือดออกไปจากหัวใจให้ได้แต่ก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่ จึงเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา

สาเหตุที่ทำให้เกิดลิ้นหัวใจรั่ว

1. โรคลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด

2. โรคลิ้นหัวใจรั่วที่เกิดขึ้นมาภายหลังจากโรคทางร่างกายอื่น ๆ เช่น โรคลิ้นหัวใจรูห์มาติค เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน บ่อยครั้งในวัยเด็กและไม่รักษา จึงนำไปสู่การอักเสบของลิ้นหัวใจตามมา อักเสบติดเชื้อ มีเชื้อโรคพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีสุขภาพช่องปากและฟันไม่ดี  จึงเป็นที่สะสมของเชื้อแบคทีเรียและเข้าสู่กระแสเลือดไปเกาะที่ลิ้นหัวใจและทำลายลิ้นหัวใจ และพบในผู้ป่วยที่ฉีดยาเสพติดเนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ไม่สะอาดมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง

3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด  ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นบีบตัวผิดปกติหรือไม่บีบตัว  ทำให้กล้ามเนื้อส่วนที่ควบคุมการปิดเปิดของหัวใจทำงานผิดปกติ

อาการอะไรบ้างที่ทำให้สงสัยว่ามีลิ้นหัวใจรั่ว

ในรายที่มีลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อยนั้นจะไม่มีอาการใด ๆ เลย แต่ถ้ารั่วมากขึ้นอาการก็จะเด่นชัดขึ้นตามมา  ซึ่งอาจมาด้วยอาการ เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ ขาบวม แน่นท้อง ตับโต ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าอาการรุนแรงอาจมาด้วยอาการเป็นลมหมดสติและถึงแก่ชีวิตได้

การตรวจหาลิ้นหัวใจรั่ว

แพทย์จะตรวจร่างกายและฟังเสียงหัวใจถ้าได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติดังฟู่ ๆ ออกมาแพทย์จะตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจ  ทำการเอกซเรย์ปอด และการทำอัลตร้าซาวด์หัวใจหรือที่เรียกว่าการทำ “เอคโค” (Echocardiogram)

การรักษาและป้องกัน

การรักษา ขึ้นอยู่กับว่าลิ้นหัวใจเรานั้นรั่วรุนแรงเพียงใด ถ้ารั่วเพียงเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นที่จะต้องรักษา แต่ต้องมาพบแพทย์เพื่อประเมินความรุนแรงเป็นระยะ ๆ แต่ในรายที่รั่วปานกลางถึงรุนแรงอาจมีการใช้ยา เพื่อลดอาการเหนื่อย หอบ แต่ในรายที่พบว่าลิ้นหัวใจรั่วรุนแรงมากและไม่สามารถใช้ยาควบคุมได้  ก็จำเป็นจะต้องส่งผู้ป่วยไปผ่าตัดเย็บช่อมลิ้นหัวใจหรืออาจต้องใส่ลิ้นหัวใจเทียมแทน แต่ยังต้องมาพบแพทย์อย่างใกล้ชิดและอาจต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย

การป้องกัน คือการออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดโรคทางกายหรือโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ เช่น ถ้าเป็นหวัด เจ็บคอให้รีบรักษาให้หาย หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง งดสูบบุหรี่และสุรา ยาเสพติด พยายามรักษาความดันโลหิตให้ปกติและควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี  และถ้ามีลิ้นหัวใจรั่วอยู่บ้างแล้วจะต้องบอกทันตแพทย์หรือแพทย์ผู้ดูแลทุกครั้งก่อนที่จะทำฟันหรือจะฝ่าตัดใด ๆ ต่อไป  เนื่องจากแพทย์อาจต้องให้ยาปฏิชีวนะรับประทานหรือฉีดยาปฏิชีวนะก่อนที่จะทำหัตถการใด ๆ กับผู้ป่วย  เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ นั่นเอง

โดย พ.อ. (พิเศษ) รศ.นพ.สุรเดช จารุจินดา

โรงพยาบาลพระมุงกุฏเกล้า

มีข้อสงสัยกรุณาติดต่อ คลินิกหู คอ จมูก คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา

โทรศัพท์ 02-3190909 ต่อ 2309 – 2310 เวลา 08.00 – 19.00 น.

Leave a reply