ไซนัสอักเสบ

ไซนัสคืออะไร? : รูปแบบแผ่นพับ [1] [2]

            ไซนัส คือ โพรงอากาศในกระดูกที่ล้อมรอบโพรงจมูก จะมีที่บริเวณกระดูกหน้าผาก 1 คู่ กลุ่มโพรงไซนัสเล็กๆ บริเวณกระดูกหัวตาทั้ง 2 ข้าง และที่กระดูกฐานกะโหลกศีรษะ 1 คู่ ซึ่งโพรงอากาศเหล่านี้จะมีรูเล็กๆ เชื่อมไปยังโพรงจมูกการอักเสบของโพรงอากาศเหล่านี้อันใดอันหนึ่ง เรียกว่าไซนัสอักเสบ

อาการของไซนัสอักเสบ

1.มีเสมหะ หรือเสลดที่เป็นมูกหรือมูกปนหนอง ค้างอยู่ที่หลังเพดานอ่อนหลังจมูกและไหลลงมายังคอ บ่อยๆ

2.เจ็บระคายเคืองคอจากเสมหะหรือเสลดปนหนอง ไหลลงมาในคอ

3.ปวดศีรษะตื้อๆบริเวณหน้าผาก หัวคิ้วหรือหัวตา กระบอกตา แก้ม ฟันกรามด้านบน บางครั้งปวดไปที่ท้ายทอย ถ้าเป็นเฉียบพลันจะปวดมากๆได้

4.คัดแน่นจมูก อาจมีอาการแสบๆ ภายในจมูกได้

5.อาจมีกลิ่นปาก เหม็นคาว เหม็นเปรี้ยว หรือเหม็นเน่าเวลาพูด หรือหายใจออกมามีกลิ่นคาว ติดค้างในท้องหรือสำนักงาน

6.อาจมีหูอื้อ เวลาพูดได้ยินเสียงตัวเองก้องในหู ซึ่งอาจจะดีขึ้น เมื่อมีการกลืนน้ำลาย หรือเป่าลมไปยังหูโดยวิธี VALSALVA

7.อาจมีไอ ตอนนอนราบสักพัก เพราะเสมหะจะไหลเคลื่อนที่ระคายเคืองกล่องเสียงทำให้อยากไอ

8.หวัด น้ำมูกไหล หรือเสมหะลงคอ  แน่นจมูก เกิน 2 สัปดาห์

9.นอนกรน เพราะไซนัสอักเสบทำให้เยื่อบุจมูกบวม หายใจออกทางจมูกยากขึ้น ต้องหายใจออกทางปาก ทำให้เพดานอ่อนสั่น เกิดเสียงกรนดังขึ้นได้

สาเหตุของไซนัสอักเสบ

ต้องเป็นหวัดมาก่อน และมีองค์ประกอบพร้อมกันครบทั้ง 3 อย่าง

1.หวัด น้ำมูกไหล ออกด้านหน้าจมูกหรือไหลลงคอ

2.แน่นจมูก จากเยื่อบุจมูกบวม

3.มีการสูดหรือซื้ดน้ำมูกลงไปในคอ หรือสูดครืดๆ เอาเสมหะหลังจมูกลงมาที่คอ จะทำให้เกิดความดันในโพรงไซนัสเป็นลบ และรูเปิดไซนัสจะบวมอุดตันเกิดอักเสบในโพรงไซนัส

หรือ4.เกิดจากรากฟันกรามบนผุ และหนองทะลุเข้าโพรงไซนัสแก้มทำให้เกิดหนองลงคอ มีกลิ่นเหม็นเน่า

การวินิจฉัย

ไซนัสอักเสบ เป็นได้บ่อยกว่าที่คนทั่วไปคิด และโดยมากคิดว่าเป็นแค่หวัดลงคอ เพราะเมื่อคุณเป็นหวัด น้ำมูกไหล แน่นจมูกมากๆและมีการสูดน้ำมูกแรงๆ ก็มีโอกาสเกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลันได้ ภายใน 2-3 วันแรกที่เป็นหวัดโดยมีอาการตามที่กล่าวไว้

            ดันนั้นผู้ป่วยที่เป็นหวัด แน่นจมูก มีเสมหะลงคอ หรือเจ็บคอเรื้อรัง ไอกลางคืน จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ หู คอ จมูก แพทย์จะใช้กระจกส่องตรวจหลังโพรงจมูกว่ามีหนองไหลออกทางจมูกด้านหลังและมาจากโพรงไซนัสหรือไม่ เพื่อให้ได้รับการรักษาและคำแนะนำที่เหมาะสม ไม่ให้เป็นโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังต่อไป ในบางรายแพทย์อาจใช้กล้องส่องเข้าไปในรูจมูก เพื่อดูว่ามีหนอง จากรูไซนัสหรือมีเนื้องอก เช่น ริดสีดวงในจมูกหรือไม่

            การเอ็กซเรย์ไซนัส ไม่จำเป็นต้องทำเพื่อวินิจฉัยไซนัสอักเสบ เพราะแพทย์ หู คอ จมูก จะสามารถตรวจพบหนองจากไซนัส และให้การวินิจฉัยได้อยู่แล้ว แต่การส่งตรวจเอกซเรย์ไซนัส อาจทำในรายที่แพทย์สงสัยว่ามีหนองคั่งอยู่ในโพรงไซนัสบริเวณแก้มหรือไม่ เพื่อยืนยัน จำได้ทำการเจาะล้างไซนัสเพื่อการรักษาต่อไป

แต่แพทย์ทั่วไป อาจต้องใช้เอ็กซเรย์ช่วยในการวินิจฉัยไซนัสอักเสบ เพราะการตรวจในคอ โดยใช้ไม้กดลิ้นอย่างเดียว ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นไซนัสอักเสบหรือไม่

            การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ของไซนัส อาจจำเป็นในรายที่มีเนื้องอก หรือก้อนในจมูกก่อนผ่าตัด บางรายที่มีอาการเป็นมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากไซนัส เช่น หนองเข้ากระบอกตา หรือมีโครงสร้างจมูกผิดปกติหรือเคยได้รับการผ่าตัดไซนัสมาก่อน เพื่อใช้ในการวางแผนการผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องทำทุกรายที่สงสัยว่าไซนัสอักเสบ หรือที่จะผ่าตัดรักษาไซนัสอักเสบ

การรักษาไซนัสอักเสบ

1.ห้ามสูดหรือซื้ดน้ำมูกลงคอเด็ดขาด และห้ามการสูดครืดๆเอาเสมหะลงคอ เพื่อกลืนหรือขากทิ้ง ถ้าเสมหะหลังจมูกลงในคอเองให้กลืนหรือบ้วนทิ้งได้

2.ถ้ามีน้ำมูกให้สั่งทิ้ง การสั่งทีละข้างจะได้ผลดีกว่า

3.ดื่มน้ำวันละ 3 ลิตร ประมาณ 12 แก้ว จะทำให้มูกที่สร้างในโพรงจมูกและไซนัสมีน้ำมากขึ้น ไม่เหนียวมาก ทำให้เยื่อบุจมูก และไซนัสที่เป็นเซลล์ขนจะพัดโบกเสมหะออกไปได้ง่าย

4.ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องไตหรือหัวใจที่ต้องจำกัดน้ำต้องปรึกษาแพทย์ก่อน

5.การเป่าลมเข้าไปที่หูชั้นกลาง โดยวิธี valsalva จะช่วยลดอาการหูอื้อและป้องกันการเกิดหูน้ำหนวกได้ ทำโดยบีบจมูกทั้ง 2 ข้างให้แน่น เม้มปากแน่น ทำเหมือนสั่งน้ำมูกมาด้านหน้าจมูกให้ตึงปีกจมูก 2 ข้างตลอดเวลาไม่ต้องเป่าให้แก้มสองข้างป่องออก ห้ามปล่อยมือหรือเปิดปาก เมื่อลมออกจมูกและปากไม่ได้จะขึ้นไปยังท่อ Eustrachian ไปยังหูชั้นกลางทำให้หูหายอื้อได้

6.การเป่าลมเข้าไปที่โพรงไซนัส จะช่วยลดอาการปวดไซนัส บริเวณหน้าผากหรือหัวคิ้วได้ การเป่าลมขึ้นไปที่โพรงไซนัส ทำเหมือน valsalva แต่ให้สั่งน้ำมูกค่อยๆช้าๆ และนานๆ ถ้าเป่าหรือสั่งแรง ลมจะขึ้นไปที่หูอาจทำให้ปวดหูได้ เมื่อทำแล้ว อาการปวดตื้อๆที่หน้าผาก หัวตา และแก้มจะลดลง

7.ยา ต้องกินยารักษาประมาณ 2-3 สัปดาห์ติดต่อกัน

8.ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ อาจใช้เพื่อลดการบวมของเยื่อบุจมูก ในรายที่เป็นภูมิแพ้ หรือเยื่อบุจมูกบวมมาก

9.การเจาะล้างไซนัสที่แก้ม จะทำเมื่อตรวจพบหนองในโพรงจมูกแก้ม จากการใช้กระจก สะท้อนดูหลังโพรงจมูกหรือการส่องกล้อง หรือการเอ็กซเรย์ไซนัส การเจาะสามารถทำได้โดยการฉีดยาชา และใช้เข็มเจาะ เข้าไปในโพรงไซนัส และล้างเอาหนองออกด้วยน้ำเกลือ ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที จะทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

10.การใช้น้ำเกลือล้างจมูก เพื่อให้มูกที่เหนียวไหลออกมา ได้ผลน้อยกว่าการสั่งน้ำมูก และดื่มน้ำมากๆ เพราะจะล้างได้เพียงด้านล่างของโพรงจมูกเท่านั้น เหมาะสำหรับเด็กที่สั่งน้ำมูกไม่เป็น หรือหลังผ่าตัด

11.กรณีที่เป็นโรคภูมิแพ้ ต้องรักษาภูมิแพ้ร่วมด้วย จึงจะทำให้การรักษาไซนัสได้ผลดี

การผ่าตัด แพทย์จะทำการผ่าตัดเมื่อ

1.มีก้อนเนื้อในโพรงจมูก เช่น ริดสีดวงอุดตันรูเปิดไซนัส

2.มีอาการแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบ ปวดศีรษะมาก แน่นจมูกและมีหนองข้น ตาบวมแดงจากหนอง ไซนัสแตกเข้ากระบอกตา เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เส้นเลือดดำในสมองอักเสบ หรือฝีในสมอง

3.เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง กินยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์แล้วยังไม่หาย แม้ว่าจะเปลี่ยนยาปฏิชีวนะ แล้วก็ตาม

4.มีกลิ่นปากที่รักษาด้วยยา เต็มที่แล้วไม่หาย และไม่ใช่ปัญหาจากฟันผุ

5.มีเนื้องอกในโพรงจมูก หรือไซนัส

การป้องกัน

1.พยายามอย่าคลุกคลีกับผู้ป่วยที่กำลังเป็นหวัด ไอ หรือจาม

2.ถ้าคุณเป็นหวัด เวลาไอ จาม ให้หาผ้าปิดปาก และจมูก เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อ หวัดไปยังผู้อื่น หรือห้ามสูดน้ำมูก (การสูดน้ำมูก หรือสูกเสมหะหลังจมูกลงคอ จะเพิ่มโอกาสเป็นไซนัสอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบได้)

3.เมื่อเป็นหวัดหรือไซนัส ต้องรักษาให้ถูกต้อง และใช้เวลานานพอเพียง

4.การสั่งน้ำมูก ให้สั่งทีละข้างจะได้ผลดีกว่า โดยบีบจมูกข้างหนึ่ง แล้วสั่งอีกข้าง ไม่ควรสั่งแรงมากเกินไป ถ้าสั่งน้ำมูกแล้วหูอื้อมาก ให้อ้าปากขณะสั่งน้ำมูก จะลดการปวดหูได้

5.เมื่อเป็นหวัด ให้หลีกเลี่ยงน้ำแข็งและน้ำเย็น 6.หลีกเลี่ยงการเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมตรงหน้าหรือศีรษะนานๆ

โดย นพ.สุทธิศักดิ์ วุฒิพันธ์เรืองชัย Facebook : หมอ หู คอ จมูก

Leave a reply