ประวัติความเป็นมา

“คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา”

เป็นคลินิกขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนถนนประดิษฐ์มนูธรรม แขวงวังทองหลาง อันเป็นศูนย์รวมแพทย์ ทันตแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัย บำบัดและป้องกันโรค โดยดูแลรักษาโรคทั่วไป และเฉพาะทางทุกสาขา ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ในลักษณะผู้ป่วยนอก รวมทั้งการผ่าตัดที่ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน ไม่มีบริการรับผู้ป่วยค้างคืน มีระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล เน้นระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโดยไม่มุ่งกำไร ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ 3 ประสาน คือ บ้าน วัด และโรงเรียน มีคำย่อว่า “บวร” ในมิติของการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน อันจะยังประโยชน์ เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคม นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการส่วนพระองค์จาก แนวพระราชดำริ เป็น “ศูนย์แพทย์พัฒนา”

หากจะกล่าวถึงประวัติของคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนานั้น เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยประชาราษฎร์ และทรงมุ่งหวังให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข โดยตั้งแต่ปี

พ.ศ. 2526 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน โดยรถยนต์พระที่นั่งไปทอดพระเนตรพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับโรงเรียนไทย-ญี่ปุ่น ตั้งอยู่ใกล้กับคลองลาดพร้าว และคลองพลับพลา และถนนลาดพร้าว เพื่อสำรวจพื้นที่น้ำท่วมในช่วงที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบถึงปัญหาน้ำเสียในคลองลาดพร้าวและคลองพลับพลา อีกทั้งไม่มีการคมนาคมทางบกในบริเวณพื้นที่แยกคลองลาดพร้าวและคลองพลับพลา มีแต่การสัญจรไปมาเฉพาะทางน้ำ ขณะนั้นเป็นพื้นที่ส่วนที่มีปัญหาจากน้ำเน่าเสีย ชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำการปลูกผัก เลี้ยงไก่ ตามสภาพของแต่ละครอบครัว หากมีมากพอก็จะนำออกไปขาย บางรายก็จะใส่ในเรือพายไปขายตามคลองลาดพร้าวในละแวกใกล้เคียง ตามคลองที่สามารถจะสัญจรไปได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานโฉนดที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีพระราชดำริให้ขุดบ่อทำ “บึงพระราม 9” ให้นำน้ำที่เน่าเสียในคลองลาดพร้าวมาบำบัดแล้วปล่อยลงคลอง เพื่อบรรเทาการเน่าเสียของน้ำในคลองดังกล่าว อันนำมาซึ่ง “บึงพระราม 9” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานครต่อเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน ​

พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์ในเรื่องการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานในต่างจังหวัด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หน่วยแพทย์พระราชทานที่ตามเสด็จฯ  ให้บริการทางการแพทย์ตรวจรักษาราษฎรผู้เจ็บป่วยที่มารับการรักษา และพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการรักษาต่อ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เผยแพร่ความรู้ด้านสุขอนามัยที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เมื่อทรงทราบถึงปัญหาสุขภาพของราษฎรในชุมชนคลองบริเวณโดยรอบคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา ที่มีปัญหาการคมนาคม ไม่มีการสัญจรทางรถ โรงพยาบาลของรัฐก็ยังอยู่ไกล การเดินทางไม่สะดวก จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งคลินิก เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ที่มาตามเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานในการเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดเมื่อมีเวลาว่าง มาช่วยตรวจรักษาราษฎรที่อยู่ในชุมชนคลองลาดพร้าวและคลองพลับพลา ตลอดจนชุมชนใกล้เคียง

พ.ศ. 2534  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดตั้งเป็น บริษัท บ้านบึงเวชกิจ จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2534 พร้อมทั้งก่อสร้างอาคาร 4 ชั้น เป็นที่ทำการของสถานพยาบาล บนพื้นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประมาณ 10 ไร่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเครื่องมือแพทย์ จัดเป็นสถานพยาบาลที่ไม่มีผู้ป่วยค้างคืน (คลินิก) พระราชทานนามว่า “ศูนย์แพทย์พัฒนา” (Medical Development Clinic) และพระราชทาน “รูปกากบาทสามมิติ” ให้เป็นสัญลักษณ์ 

พ.ศ. 2541 ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมายังคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงเจิมบนแผ่นศิลาฤกษ์จำลอง

พ.ศ. 2549  ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานตราตั้งแก่บริษัท บ้านบึงเวชกิจ จำกัด เป็นบริษัทในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พ.ศ. 2552 คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนาดำเนินการมาระยะหนึ่งพบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากและอาคารที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับบริการได้เพียงพอ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างอาคารใหม่บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พื้นที่ 14 ไร่ และทรงเจิมแผ่นศิลาฤกษ์เพื่อเป็นสิริมงคล

พ.ศ. 2554  เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่ออาคารเดิมชื่อว่าอาคาร “บวรเวชรักษ์” หมายถึง อาคารสำหรับการรักษาโรคโดยแพทย์ผู้ประเสริฐ และอาคารใหม่ชื่อว่าอาคาร “ราชเวชชาคาร” หมายถึง อาคารสำหรับการรักษาโรคที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนาสามารถรองรับการให้บริการผู้ป่วยวันละประมาณ 3,500 คน/วัน

พ.ศ. 2558  คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จ
พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารราชเวชชาคาร เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2558

พ.ศ. 2559 คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงบาตร เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 18 ปีที่พระบาทสมเด็จ
พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจิมแผ่นศิลาจำลอง และทรงเปิดศูนย์เอ็มอาร์ไอ (MRI) เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

 

พ.ศ. 2563 คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา ฉะเชิงเทรา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการรักษาสุขภาพ ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้พสกนิกรอยู่ดีมีสุข จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายพื้นที่การให้บริการด้านการรักษาพยาบาลออกไปนอกเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดฉะเชิงเทรา มีอาคารเดิมของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นอาคาร 5 ชั้น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง จึงมีพระบรมราโชบายให้ปรับปรุงเป็นสถานพยาบาล โดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงอาคาร เพื่อรองรับการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อให้บริการประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทราและพื้นที่ใกล้เคียง ให้ได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว ได้มาตรฐานตามวิชาชีพ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2563

“สถานพยาบาลของทางราชการ” ตามมาตรา 4 สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล

วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2543 คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนาได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลัง กำหนดให้เป็นสถานพยาบาลของทางราชการตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2523 ให้เป็นสถานที่ที่ข้าราชการและครอบครัว ที่มารับบริการสามารถใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลและค่ายาได้ เช่นเดียวกับการรับบริการในสถานพยาบาลของรัฐ ยกเว้นยังต้องชำระค่าธรรมเนียมแพทย์